อัมพา อุทุมมา "เบื้องหลังความสำเร็จ ลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม."

img

"อัมพา อุทุมมา" เราเคยอยู่จุดสูงสุดของชีวิตมาแล้ว มันไม่มีอะไรสูงไปกว่านี้แล้ว  พลุขึ้นแล้วมันสวย เวลาลง เราก็อยากลงอย่างสง่างาม

 

“เจ้าแม่ลูกทุ่งเอฟเอ็ม”

ย้อนเวลาไปเมื่อปี พ.ศ.2540 มีปรากฎการณ์ที่ต้องบันทึกในประวัติศาสตร์วงการวิทยุและวงการเพลงลูกทุ่งไทย กับการถือกำเนิดคลื่น “ลูกทุ่งเอฟเอ็ม” ซึ่งเป็นครั้งแรกของสถานีเพลงลูกทุ่ง 24 ชั่วโมง ทางหน้าปัดเอฟเอ็ม ในยุคนั้นวงการเพลงยอมรับว่าเป็นคลื่นวิทยุที่ติดอันดับหนึ่งยอดนิยม แม้ปัจจุบัน ลูกทุ่งเอฟเอ็ม ซึ่งบริหารงานโดย คุณวิทยา ศุภพรโอภาส โดยมี “พี่แอ้” อัมพา อุทุมมา เป็นทั้งเลขาและผู้จัดการคลื่น จนหลายคนให้ฉายาเธอว่า “เจ้าแม่ลูกทุ่งเอฟเอ็ม” หลังจากที่เธอหายจากวงการไปหลายปีที่เดียว วันนี้ “พี่แอ้” ได้ให้เกียรติมาพูดคุยกับทีมงาน จนทำให้เราได้ทราบว่าผู้หญิงคนนนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาตั้งแต่ยุคเพลงสตริงเฟื่องฟู ยุคแผ่นเสียง ตอนนั้นมีค่ายใหญ่อยู่ไม่กี่ค่าย ผ่านช่วงชีวิตที่มีทั้งความท้อและเสียงหัวเราะต้องอดทนอดกลั้นเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่เธอวางไว้ เพราะเธอใช้ชีวิตด้วย หลักธรรมะจัดสรรและความพอเพียง

จากยะลามาสู่เมืองกรุง

พื่ชื่อ อัมพา อุทุมมา ชื่อเดิมของพี่คือ อัมพา บุญก่อสร้าง เป็นชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้เลย ชื่อเล่นก็คือ แอ้ เป็นคนยะลา แต่เรียนอยู่ที่นั่นค่อนข้างสั้น สมัยนั้น หลักสูตรการเรียนจะเป็นแบบ 7-3-2  ไม่เหมือนสมัยนี้  7 คือประถมศึกษา 7 ปี ตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.7 มัธยมศึกษาตอนต้นคือ ม.ศ.1-3  และมัธยมศึกษาตอนปลาย คือ ม.ศ.4 กับ  ม.ศ.5  เรียนอยู่ที่ยะลาถึง ป.7 แล้ว ม.ศ.1-5  พี่มาเรียนโรงเรียนประจำ ที่โรงเรียนศรีวิกรม์ เป็นเด็กกินนอน หรือ นักเรียนประจำ 

ชีวิตเด็กประจำก็จะไม่โลดโผนเหมือนเหมือนเด็กไปกลับ ทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบ อยู่ในระเบียบ เป็นสเต็ป 5-6-7-8 คือ ตี 5 ตื่นนอน อาบน้ำแต่งตัว,6 โมง ทำการบ้านหรืออ่านหนังสือ,7 โมง กินข้าวเช้า และ 8 โมง เดินจากหอไปเรียน 

สาเหตุที่พี่เรียนโรงเรียนประจำ ที่รู้คือเพราะพี่เป็นคนขี้โรค เป็นลมบ่อย สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ไปโรงเรียนพี่น้องคนอื่นก็จะขี่จักรยานไป ได้เล่นกีฬา แต่พี่ต้องนั่งสามล้อ (หัวเราะ) แม่จะให้สามล้อไปส่งโรงเรียนและตอนเลิกเรียนก็รับกลับ กีฬาก็ไม่ได้เล่น อยากเป็นกองเชียร์ก็ไม่ได้เป็น จะอะไรก็ไม่ได้หมดเพราะเขากลัวเราไม่สบาย ฉะนั้นพี่น้องพี่ทุกคนก็จะลุย มีพี่คนเดียวที่บอบบางไม่เหมือนคนอื่น

การที่พี่ได้มาเรียนที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็กทำให้ในบรรดาพี่น้องทั้ง 4 คน พี่มีเพื่อนที่เป็นคนยะลาน้อยสุด ไม่เหมือนพี่สาว น้องสาว น้องชาย แต่ในบรรดาพี่น้องก็สนิทกัน โดยเฉพาะตัวพี่กับน้องสาว (คนที่ 3) และ น้องชาย (คนสุดท้อง)ส่วนพี่สาว อายุค่อนข้างห่างกัน คือ 6 ปี

คือจริงๆ พ่อแม่พี่มีลูก 5 คน ห่างกันคนละ 3 ปี  แต่คนที่ 2 เป็นคอตีบแล้วเสียชีวิตตอนเขาอายุประมาณ 1 ขวบ พอเขาเสียชีวิต ก็เหมือนฟันหลอ แหว่งไป ฉะนั้นเท่ากับตัวพี่ กับพี่สาวห่างกัน 6 ปี แล้วพี่สาวเป็นคนดุ เราก็จะกลัว เขาจะเป็นคนที่คงแก่เรียน พี่นี่เป็นคนขี้โรค เรียนไม่เก่ง เวลาฟังผลสอบ แม่จะถามพี่สาวว่าลูกได้ที่หนึ่งหรือที่สอง ได้ 90% หรือ 80% แต่เวลาถามพี่ แม่จะถามว่า แอ้ เกือบได้หรือเกือบตก (หัวเราะ) ถ้าเกือบตก ก็จะถามต่อว่า 50% หรือ 60% นั่นคือพี่ๆ จะเป็นคนไม่ค่อยเครียดกับชีวิตตั้งแต่เด็ก  ขี้เล่น  และมักจะโดนพี่สาวคนโตดุว่าชอบเอาเพื่อนมาเต็มบ้าน คือเขาพอมาถึงบ้านก็จะขึ้นห้อง อ่านหนังสือ ส่วนพี่ วางกระเป๋า ไปวิ่งเล่น ไปกระโดดเชือก ตามเรื่องของพี่

นิสัยของพี่ ชอบอะไรที่บันเทิง ใครถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร พี่เห็นเลขา แต่งตัวสวยๆ พี่ก็บอกแม่ว่าอยากทำงานเป็นเลขา จะได้แต่งตัวสวยๆ แม่ก็บอกกลับมาว่าจะเป็นทำไมเลขา เดี๋ยวก็ไปเป็นเมียน้อยของหัวหน้า (หัวเราะ) เขาก็จะมีอคติ คนต่างจังหวัดเขาอยากให้ลูกเป็นหมอ เป็นครู รับราชการ ทำงานธนาคาร แต่พี่เป็นคนชอบทำขนม ชอบร้องเพลง อยากเป็นแอร์ก็อยากเป็น คืออยากทำอาชีพที่สนุกสนาน ไม่ชอบอาชีพที่เครียด แต่งตัวแก่ๆ ไม่ชอบรับราชการเพราะต้องมีเครื่องแบบ

พอพี่จบ ม.ศ.5 แล้วพี่สอบเอ็นทรานช์ไม่ติด โชดดีที่มีมหาวิทยาลัยเปิดเกิดขึ้นใหม่คือมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตัวพี่เป็นนักศึกษารุ่นที่ 2 ซึ่งรุ่นแรกเปิดเมื่อปี พ.ศ.2514 คนที่เรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงก็จะรหัส 14 พี่เป็นรุ่นที่สอง รหัส 15 คณะที่พี่เรียนคือศึกษาศาสตร์ เอกสังคม ก็เรียนสี่ปีก็จบตอนปี พ.ศ. 2519

คณะศึกษาศาสตร์ที่พี่เรียนมาเป็นสายครู ตอนที่พี่ฝึกสอน เด็กจะติดพี่ เพราะเราเป็นคนเข้ากับเด็กได้ เสาร์อาทิตย์เด็กจะมาที่บ้านเต็มเลย ที่บ้านยังบอกเสาร์-อาทิตย์ต้องการความเป็นส่วนตัว แล้วในยุคนั้น ครูยังใช้ชอล์กสอน ใช้ชอล์กเขียนกระดาน ไม่มีไวท์บอร์ดเหมือนสมัยนี้ ทำให้พี่รู้ว่าเป็นภูมิแพ้ เป็นหอบ เพราะฝุ่นจากชอล์ก พอเรารู้ว่าอาชีพตรงนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะหนึ่งคือเราแพ้ฝุ่น สองคือตอนฝึกสอน พี่เรียนรู้ว่าครูเป็นอาชีพที่เรียนไม่จบ คำว่าเรียนไม่จบคือต้องต้องศึกษาหาความรู้บ่อยๆ เพื่อเตรียมการสอน แล้วธรรมชาติของพี่เป็นคนขี้เกียจเรียน พี่อยากจะเรียนอะไรก็ได้ให้จบเร็วๆ พ่อแม่จะได้ไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไช แต่ถ้าเราเป็นครู พี่ต้องอยู่กับตำราตลอด ต้องเตรียมการสอน  ซึ่งไม่ใช่พี่เลย พี่ถามตัวเองว่าจะเอาอย่างไรดี จะไปต่ออย่างไร 

เริ่มงานที่พลรอ.

วันหนึ่งพี่เปิดวิทยุฟังเพลง พี่ได้ยิน เพลงๆ หนึ่ง ชื่อเพลง คิดถึงแต่เธอ ที่คุณดาวใจ ไพจิตร ร้อง แล้วพี่คุ้นๆ น่าจะเป็นเพลงที่เพื่อนพี่แต่ง เขาเคยร้องให้ฟัง พี่ก็เลยโทรศัพท์ไปที่สถานีถามว่าเพลงนี้ใครแต่ง ทางนั้นตอบมาว่า ว.วัชญาน์  พี่ถึงรู้ว่า ว.วัชญาน์  คือ วารุณี วิชัยพรหม หรือ พี่บ่วย  ซึ่งตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว เขาเป็นเพื่อนพี่เอง เพลงนี้เขาแต่งตอนยังไม่ได้เป็นนักแต่งเพลง เป็นเพลงที่เขาเพิ่งหัดแต่ง ไม่นึกว่าเพลงที่เขาหัดแต่ง จะมีโอกาสให้ คุณดาวใจร้อง พี่ก็เลยโทรไปหาพี่บ่วย ตอนนั้น เขาทำงานอยู่ที่วิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล1 รอ.) แล้วถามว่าพี่ทำอะไร เรียนจบหรือยัง พอพี่บอกว่าจบแล้ว แต่ยังหางานทำอยู่ ก็ชวนพี่มาทำงานวิทยุ ทั้งๆ ที่พี่ไม่ได้จบสื่อสารมวลชนมา พี่บ่วยบอกที่นี่ไม่เอาวุฒิหรอก เอาแค่ จบ ม.ศ.5 หรือ ปวส  เขาไม่รับปริญญาตรีเพราะไม่มีอัตราเงินเดือนที่จะจ้าง  เขามีเพดานแค่นี้  ถ้าไม่เกี่ยงเรื่องเงินเดือน มาทำที่นี่แล้วใช้

ความสามารถหาเงิน เอาตรงนี้เป็นใบเบิกทาง เช่นถ้าชอบร้องเพลงก็จะได้รู้จักนักจัดรายการ นักแต่งเพลง ค่ายเพลง หรืออะไรอย่างนี้  หรืออยากจัดรายการ  จะได้มากกว่าเงินเดือน ก็รู้สึกว่าน่าสนใจ พี่ก็เลยไปสมัคร หัวหน้าสถานีเขาก็เลยบอกว่า “คุณรู้ไหม  คุณจบปริญญาตรี คุณรู้เงินเดือนหรือเปล่าว่าเราไม่ได้จ้างคุณเท่าวุฒินะ ถ้าคุณทำที่นี่  เราจ้างคุณแค่เดือนละพันเดียวนะ" ซึ่งสมัยนั้น ปริญญาตรี ราชการเงินเดือน 1,250 บาท แต่ราชการเขาจะมีสวัสดิการ มีค่ารักษาพยาบาล  แต่นี่เป็นแค่ลูกจ้างทหาร ที่สามารถเอาเราออกเมื่อไหร่ก็ได้  พี่สนใจทำ หัวหน้าสถานีก็ถาม “ผมรับคุณน่ะ  ผมกำไรนะ ได้คนจบปริญญาตรีแต่เงินเดือนเท่าคนจบพาณิชย์”

ณ ตอนนั้น มีคนจบปริญญาตรี 3 คน จาก 200 คนที่รับสมัคร แต่เขาเอา 5 คน พี่ก็เลยเข้าไปทำงานที่พล1 ตั้งแต่นั้นมาเลย ตอนนั้น สถานีวิทยุกองพลที่1 รักษาพระองค์ มีอยู่ด้วยกัน 5 คลื่น AM 3 คลื่น และ FM 2 คลื่น ซึ่ง FM มี 90.0 MHz และ  98.0 MHz พี่เป็นเจ้าหน้าที่คลื่น FM 98 MHz ในตำแหน่งผู้ประกาศและควบคุมเสียง

การเริ่มงานที่พล1 รอ. นั้น  ทางบ้านไม่ได้ว่าอะไรแล้ว เพราะพี่ทำงานเป็นหลักแหล่ง และเขาเข้าใจว่าพี่เป็นทหาร เขาไม่สนใจแล้ว  พอเรียนจบ มีงานทำ  ช่วยตัวเองได้ ก็โอเค  ความต้องการของเราที่จะจบเร็วๆ เพราะจะได้ไม่ต้องให้พ่อแม่คอยเป็นห่วง

ก่อนที่พี่จะทำงาน เรารู้ดีว่าอาชีพบางอาชีพทางบ้านไม่อยากให้ทำเลย ตอนพี่เป็นนักศึกษาก็แอบไปประกวดร้องเพลง คือเราเป็นคนชอบร้องเพลง ไม่ได้ร้องเพลงดีเด่นมากมาย ตอนนั้น คุณ ป.วรานนท์ (บรมครูเพลง และนักจัดรายการแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน สถานีวิทยุ พล1 รอ.) จัดประกวดร้องเพลง ดาวรุ่งช่อง 7 สี และก็รู้จักพี่บ่วยจากการประกวดร้องเพลง

ตอนหลังทางบ้านรู้ว่าพี่มาประกวดร้องเพลง ก็ขอร้องให้เลิก เพราะอยากให้ตั้งใจเรียนอย่างเดียว ไม่อยากให้เต้นกินรำกิน  คนสมัยก่อนอยากให้ลูกหลานเรียนสูงๆ และรับราชการจะได้มีหน้ามีตา

สำเร็จตามเป้าหมาย

พี่เริ่มทำงานที่ พล1 รอ. ตอนปี พ.ศ.2520 ยุคนั้น ยังไม่มีการเหมาคลื่น นักจัดรายการวิทยุจะเช่าเวลาจัดเอง ยุคนั้นจะมีนักจัดรายการที่หลายคนรู้จักมาเช่าเวลาของสถานี อย่าง พี่เสกสรรค์  ภู่ประดิษฐ์, พี่วิทยา ศุภพรโอภาส, พี่สุรชัย ทมวิรัตน์ ทำงานเป็นกะ วันเว้นวัน พี่ทำงานวันนี้ พี่อาจจะรับจ้างแทนเวรคนอื่นที่เขามีธุระ วันละ 100 บาท  ถือว่าเยอะนะในตอนนั้น เงินเดือนแค่พันเดียว

ช่วงเวลาที่พี่ทำงานที่นี่ ความสำเร็จของพี่จะไม่ใช่เรื่องชื่อเสียงในแง่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่เป็นที่รู้จักในหมู่ของนักจัดรายการและสปอนเซอร์ คือพี่ทำงานที่นี่ เราจะหาเงินอย่างเดียว คำว่าหาเงินหมายความว่าหาสปอนเซอร์เข้าไปในรายการแต่ละรายการได้ เราก็จะได้ค่าคอมมิสชั่น แต่ก่อนพี่จะรู้จักนัดจัดรายการหมดเลย สปอตหนึ่งครั้ง จะมีสองอย่าง  อย่างหนึ่งคือ นักจัดรายการบอกจะเอาจำนวนเท่านั้นเท่านี้  พี่จะเรียกจากสปอนเซอร์เท่าไหร่ก็ได้ แล้วพี่เอาส่วนที่เหลือ สมมุติ นักจัดรายการบอกจะเอาสปอตละ  50 บาท  พี่ก็ไปขอสปอนเซอร์ สปอตละ 70 บาท เท่ากับตัวพี่ได้ 20 บาท  ส่วนอีกอย่างคือ เขามีกำหนดมาว่าสินค้านี้เรียกได้จำนวนไม่เกินเท่านี้ พี่บวกไม่ได้  จะให้คอมมิชชั่นพี่ได้ สปอตละเท่านั้นเท่านี้   ฉะนั้นรายได้ของพี่ส่วนใหญ่มาจากการหาสปอนเซอร์  และพี่ไม่ได้หาแค่คลื่นเดียว  พี่ทำตั้งแต่คลื่นซ้ายสุดของหน้าปัดวิทยุยันขวาสุด            

คือพอเราอยู่ในวงการ เราจะรู้จักนัดจัดรายการเยอะ รายได้พี่เดือนละเป็นแสนนะในยุคนั้น เพราะพี่วางทุกคลื่นและทุกเวลาออกอากาศ แล้วยุคนั้นก็จะมีคิวเพลง สปอตเพลง เขาเรียกพี่ว่าเป็นเจ้าแม่หัวคิว ไม่มีนักจัดรายการเพลงคนไหนไม่รู้จักพี่ เพราะพี่เอาสินค้าลงหมดเลย รายได้ตรงนั้นทำให้พี่มีบ้าน มีรถ ตามเป้าหมายของพี่ตอนนั้น นั่นคือความสำเร็จเมื่อตอนทำวิทยุ พล1 เป็นเรื่องของทรัพย์สินและเงินทอง         

การทำงานที่นี่  พี่มีความสุข ได้อยู่กับเสียงเพลง แต่ก็ตามธรรมดาไม่ว่างานอะไร ก็หนีไม่พ้นปัญหา บางทีเราก็เจอเบี้ยว เจอเช็คเด้ง เรียกว่าทุกอย่างบนโลกนี้ไม่มีอะไรราบรื่น แต่ตรงนั้นคือบทเรียน 

ช่วงปลายๆ ก่อนที่พี่จะออกจากวิทยุ พล.1 วงการวิทยุเปลี่ยนแปลง  ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ต่างๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทในสถานีวิทยุ มาซื้อเวลาคลื่นวิทยุ นักจัดรายการวิทยุเดี่ยวๆ ก็จะไม่ได้รับการต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ  ทุกอย่างเปลี่ยน ถามว่ากระทบพี่ไหม กระทบ เพราะพี่ไม่สามารถเอาสปอตลงได้แล้ว เพราะนักจัดรายการที่เป็นส่วนตัว เขาหลุดหมด ทางค่ายที่ซื้อเขาก็จะเอาคนของเขาเอง ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

หลังจากพี่ออกจาก พล1 ตอนประมาณปี 2535-2536 พี่เว้นวรรคอยู่ปีสองปี แล้ว คุณติ๋ว ศันสนีย์  นาคพงศ์ เขาเห็นพี่ว่างอยู่ เลยชวนพี่มาทำงาน ให้ดูคลื่นวิทยุ เรดิโอ สปอต เป็นคลื่นที่อยู่ในเครือของช่อง 7 (FM 103.5) โดยให้พี่เป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ทำที่เรดิโอ สปอต อยู่ปีกว่าๆ  คลื่นก็ไม่ได้รับการต่อสัญญา  พี่ก็ว่างอีกสักระยะหนึ่ง แล้วก็มาทำงานกับพี่วิทยา ศุภพรโอภาส ที่มีเดีย ออฟ มีเดียส์ 

พี่กับพี่วิทยา รู้จักกันตอนทำงานที่ พล.1 เขาจัดรายการ Express Songs  ด้วยความที่เขาเห็นพี่เป็นคนวางแผ่นได้แม่น ต่อแผ่นเร็ว ถูกใจเขา  สมัยนั้นเรียกว่า มือปืน  คือถ้าพี่ออกเวรแล้วพี่ก็จะไม่นั่งต่อ แต่เขาจะจ้างให้พี่นั่ง แล้วกินเงินเดือน ธรรมดารายการของวิทยาสามทุ่มถึงเที่ยงคืน พอสองทุ่มพี่จะต้องออกแล้ว พี่วิทยาบอกเดี๋ยวพี่จ้างเป็นเดือนเอาไหม นั่งให้พี่ประจำ ซึ่งอะไรที่เป็นเงิน พี่เอาหมด (หัวเราะ) พี่ก็นั่ง ซึ่งแต่ก่อนเขาจะแนะนำว่า วิทยา ศุภพรโอภาส จัดรายการ อัมพา บุญก่อสร้าง ควบคุมเสียง พี่ก็จะดังไปกับพี่วิทยาด้วย แฟนเพลงก็จะรู้จัก พี่ก็จะสนิทกับพี่วิทยา แล้วช่วงนั้น เราก็ซ่า ช่วงนั้นพี่วิทยาจัดรายการเสร็จก็จะไปเที่ยว พี่รู้จักนักร้องวงดังๆ อย่าง รอยัลส์สไปรทส์, แมคอินทอช 

พอพี่ออกจาก พล.1 พี่วิทยาเขาก็ว่าง แล้วทาง มีเดีย ออฟ มีเดียส์ ทำค่ายเพลง เอ็ม สแควร์ แต่ช่วงที่พี่วิทยากับติ๋วชวนพี่เป็นจังหวะพอดี พี่วิทยาเขาอยากให้พี่ไปดู เอ็ม เรดิโอ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นคลื่น 90.0 MHz พี่ถามพี่วิทยาว่าจะโกรธไหม คือติ๋ว

ชวนแอ้ไปทำงานกับเขา พี่วิทยาบอกว่าไม่เป็นไร ไปทำกับติ๋วเขาดีกว่า เบื่อเมื่อไหร่แล้วค่อยมาทำกับพี่  จะได้มีความรู้หลายๆ ทาง และของพี่กลับมาได้ทุกเมื่อ 

ช่วยงานเอ็มเรดิโอ

พอสถานีหมดสัญญา พี่ก็บอกพี่วิทยาว่า แอ้ว่างงานแล้วนะ พี่วิทยาก็ให้พี่มาช่วยดู ตอนนั้นมี เอ็มสแควร์ เอ็มสตาร์ เอ็มเรดิโอ  ตอนนั้น มีเดีย ออฟ มีเดียส์ เขามีอะไรเยอะ  มีรายการโทรทัศน์บ้านเลขที่ 5 ที่ดังมากๆ

พี่มาช่วย เอ็มเรดิโอ เป็นผู้ช่วยและผู้ติดตามพี่วิทยา ไปไหนไปกันตลอด และได้เรียนรู้งานด้วย จนปี พ.ศ.2540  ฟองสบู่แตก  มีเดีย ออฟ มีเดียส์  ไม่เอาคลื่น เอ็ม เรดิโอ เลยจะคืนคลื่นให้พี่วิทยา ซึ่งเป็นเจ้าของไลเซนส์  นั่นคือจุดเริ่มต้นของลูกทุ่งเอฟเอ็ม

จุดเริ่มต้นลูกทุ่งเอฟเอ็ม

แม้ช่วงฟองสบู่แตกจะทำให้เกิดปัญหา แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของลูกทุ่ง  เอฟเอ็ม  คือพอมีเดีย ออฟ มีเดียส์ คืนคลื่นกลางคัน  บอกก่อนแค่เดือนสองเดือนว่าสิงหาคมจะไม่ทำคลื่นแล้ว พี่วิทยาก็เครียดว่าจะทำอย่างไร มานั่งปรึกษากับหลายฝ่าย สิ่งที่เคาะออกมาคือจะทำอะไรเหมือนชาวบ้านไม่ได้ ต้องทำอะไรที่ฉีกแนวออกมา ถ้าทำคลื่นสตริงก็จะสู้คลื่นวัยรุ่นดังๆหลายคลื่นตอนนั้นไม่ได้ การสำรวจยอดผู้ฟังวิทยุตอนนั้นคลื่นแนวนั้นเป็นอันดับหนึ่งตลอด พี่วิทยาเลยเสนอว่าลองมาทำคลื่นลูกทุ่งไหม 

ปกติแล้ว ลูกทุ่ง ไม่มีอยู่ในหน้าปัดคลื่น FM มีแต่ AM แล้วทีวี ก็ต้องเปิดหลังเที่ยงคืน ดึกๆ ต้องตีสอง ถึงจะมีรายการที่เปิดเพลงลูกทุ่ง ไม่มีโอกาสที่จะได้อยู่ช่วงเวลาดีๆ พี่วิทยาเลยคิดว่าทุ่มสุดตัว ถ้าไม่ทำอะไรแปลกก็คือไม่ได้ พี่วิทยาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เพลงลูกทุ่งอยู่บนหน้าปัด FM และกลุ่มเป้าหมายคนฟังไม่ใช่แค่ชาวบ้านหรือชนชั้นกรรมาชีพ แต่ทำอย่างไรให้คลื่นของเราฟังได้ทุกคน ตั้งแต่ผู้บริหาร ยันชนชั้นกรรมาชีพ คนขับแท็กซี่  โดยวัตถุดิบของเราคือเพลงลูกทุ่ง แต่แนวทางจัดรายการและสินค้าของเรา เป็นสินค้าขึ้นห้าง เราก็ค่อยๆ มาคัดกรองว่ารายการเป็นอย่างไร คนจัดควรเป็นคนไหน ตอนไปเสนอตอนแรก ทุกคนยี้ ไม่มีใครกล้าลงโฆษณา  คือแนวที่วางไว้อยากได้สปอนเซอร์ร้านไก่ทอดดัง  ร้านพิซซ่าดัง  ห้างสรรพสินค้าดัง ไม่ใช่อยากได้สินค้าที่เจาะกลุ่มตลาดชาวบ้าน  

พี่ก็มาทำงานที่ลูกทุ่งเอฟเอ็ม เป็นผู้จัดการการคลื่น การมาทำงานที่ลูกทุ่งเอฟเอ็ม พี่เจอปัญหาเยอะทีเดียวค่ะ คือพี่ไม่เคยทำงานในวงการวิทยุคลื่นลูกทุ่งมาก่อน ชีวิตพี่ก่อนหน้านั้นที่อยู่พล.1  พี่อยู่คลื่นเอฟเอ็ม ฉะนั้นพี่จะอยู่กับเพลงไทยสากลสตริง และสากล  เพลงยุคใหม่สมัยนั้น  ซึ่งเป็นไปตามยุค แต่ไม่เคยสัมผัสลูกทุ่งมาก่อน  พอพี่มาอยู่ ลูกทุ่ง เอฟเอ็ม เท่ากับพี่นับหนึ่ง   ทำอย่างไรที่จะดึงเราให้รู้จักนักร้องลูกทุ่ง ทำอย่างไรเราจะรู้จักค่ายเพลงลูกทุ่ง นั่นล่ะคืองานยาก แต่ก็เป็นความท้าทาย  เราต้องหาว่าใครคือคนลูกทุ่ง ใครที่ดังในยุคนั้น ไม่ว่าจะนักจัดรายการหรือนักร้อง พี่ก็จะไปขอความช่วยเหลือ ขอคำแนะนำจากเขา  แล้วพอเริ่มต้นจากสิ่งที่ยากๆ ได้สำเร็จแล้ว ทุกอย่างก็จะง่ายตามมา 

เครดิตภาพ : FB พิพิธภัณฑ์ พุ่มพวง ดวงจันทร์

ชอบเสียงเพลง ชื่นชม "พุ่มพวง"

ในยุคที่พี่เป็นเด็กไม่มีคำว่าลูกทุ่งลูกกรุง พี่ไม่รู้หรอกว่าเขามาแยกตอนไหน แต่อย่างเพลงผู้ใหญ่ลี พี่ก็ชอบ คือชอบเป็นเพลงๆ รู้แต่ชอบเพลงนั้นเพลงนี้  หรืออย่างเพลงของสุนทราภรณ์ หลายเพลงพี่ก็ชอบ  

สำหรับเพลงลูกทุ่งเป็นอะไรไทยๆ บ้านๆ ฟังง่าย บางเพลงคนนี้ร้องเพราะ เพลงเดียวกันอีกคนร้องไม่เพราะ เรียกว่าพี่ชอบเพลงมากกว่านักร้อง แต่ถ้าถามว่านักร้องลูกทุ่งคนไหนที่พี่ชื่นชอบและชื่นชม พี่ชอบ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เพราะเขาคืออัจฉริยะในความรู้สึกของพี่  หนึ่งเขาอ่านหนังสือไม่ออกแต่ร้องเพลงและอินกับเพลงได้ดีมาก ความจำดีมาก  สองขึ้นเวทีร้องเพลงหวาน เพลงช้า ก็กินใจ พอร้องเพลงเร็ว ก็สนุก เต้นเข้าจังหวะกับหางเครื่องได้อย่างไม่มีขัดเขิน ไม่ว่าแนวไหนสไตล์ไหนเขาได้หมด เป็นคนที่มีความสามารถมาก บางคนได้แต่ร้องช้า พอร้องเพลงเร็วก็ร้องไม่ได้ แล้วยุคของพุ่มพวง ไม่มีครูมาสอน ไม่มีการเรียน มาฝึกเป็นขั้นตอน ต้องเรียนรู้เอง  ต้องฝึกเอง นั่นคือพรสวรรค์โดยตรง

ดังเกินคาด

ช่วง 5-6 เดือนแรก  ลูกทุ่งเอฟเอ็ม ขาดทุนสิบกว่าล้าน แต่หลังจากนั้น ก็ดีชึ้นๆ คนเริ่มติด คือเราเป็นสิ่งแปลกใหม่  เราเป็นคลื่นลูกทุ่งที่เสียงออกมาเพราะ  ไม่ได้กรอบแกรบๆ  ทำไปทำมา ลูกทุ่ง เอฟเอ็ม ดังมาก  ทุกคนที่ทำงานในลูกทุ่งเอฟเอ็มดังหมด ดังยันแม่บ้าน เด็กโอเปอเรเตอร์  รับสายโทรศัพท์ก็ดัง ทุกช่วงดังหมด เวลาจัดรายการจะบอกคนนี้รับสาย  แม่บ้านคนนี้เอาน้ำมาให้ แฟนๆ ทุกคนรู้จักหมด  

พี่เองก็ไม่รู้ว่าตัวเองดัง จนวันหนึ่ง พี่นั่งเครื่องบินกลับมาแล้วเรียกแท็กซี่  แล้วแท็กซี่เปิดคลื่นลูกทุ่งเอฟเอ็ม  พี่ก็ทักว่าฟังลูกทุ่งเอฟเอ็มด้วย เขาล็อกคลื่นนี้ไว้เลย แล้วก็ถามพี่ว่าไปทำอะไรที่ลูกทุ่งเอฟเอ็ม  เพราะพี่บอกให้เขาไปส่งที่ออฟฟิศ พี่ก็บอกว่าพี่ทำงานที่นั่น  เขาก็ถามว่าพี่ชื่ออะไร  พอพี่บอกว่าชื่อ แอ้  เขาก็บอกว่า พี่แอ้ แม่บ้านลูกทุ่งเอฟเอ็มเหรอ  คืออาเจนภพ  (จบกระบวนวรรณ) เขาจะเรียกพี่ว่าแม่บ้านลูกทุ่งเอฟเอ็ม แม่บ้านในที่นี่คือดูแลเรื่องต่างๆ  คือพี่วิทยาเหมือนพ่อบ้าน พี่เป็นเหมือนแม่บ้าน คือดูแลตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ  ใครฟังข้าวเกรียบเพลงเก่าก็จะรู้จักแม่บ้านลูกทุ่งเอฟเอ็ม  พี่ก็รู้สึกว่าเออ! เขารู้จักเราด้วยเหรอ 

แล้วไม่ใช่แค่คนขับแท๊กซี่รายนี้  ต้องเรียกว่าแฟนรายการรู้จักพี่แอ้หมด ทั้งๆ ที่รายการก็ไม่ได้จัดนะ  ไม่ได้ออกสื่อทีวี แค่ทำงานที่นี่  ซึ่งที่รู้จักเพราะเวลามีคอนเสิร์ต มีอะไร เราไปช่วย  นักดนตรีก็รู้จัก หางเครื่องก็รู้จัก ช่างแต่งหน้าก็รู้จัก 

เจ้าแม่ลูกทุ่งเอฟเอ็ม

การมาทำงานที่ลูกทุ่งเอฟเอ็ม ทำให้ตอนนั้นพี่ได้ฉายาว่า “เจ้าแม่แห่งวงการลูกทุ่ง” เพราะสมัยก่อนจะโปรโมทศิลปินคนไหน ดีเจในคลื่นจะเปิดเพลงของใคร ก็ต้องได้รับการอนุมัติจากพี่ก่อนว่าสมควรเปิด   ฉะนั้น นักร้องที่มีแผ่น ไม่ว่าจะค่ายเทปหรือคนผลิต ต้องมาหาพี่ ต้องมาทำความรู้จัก  พอเขารู้จักเราแล้ว เวลาเราไปคอนเสิร์ต  เรียกมาสัมภาษณ์หรือทำอะไร ก็จะรู้จักกัน  มีคนเขาพูดว่านักร้องอัดแผ่นยุคนั้น ถ้าคนไหนไม่รู้จักพี่แอ้แสดงว่าไม่ดัง (หัวเราะ) เขาพูดกันแซวเล่นๆ

มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟเอ็ม

ด้วยความสำเร็จของลูกทุ่งเอฟเอ็ม  ทำให้ทางเรา ร่วมกับ สหมงคล ฟิล์ม สร้างภาพยนตร์เรื่อง มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟเอ็ม ขึ้นมา ถือเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ที่รวบรวมคนในวงการลูกทุ่งเอาไว้มากที่สุด ทั้งนักร้อง นักจัดรายการ รวมแล้วกว่า 200  คน พี่ได้ไปกองถ่าย ก็เป็นประสบการณ์ที่สนุกมาก เรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำ 3-4 เดือน ทำรายได้ไปไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท 

การออกกองทำให้พี่ได้เรียนรู้ว่าสำหรับนักแสดง การใช้ชีวิตในกองถ่ายต้องอดทน กว่าจะได้ฉากหนึ่งบางทีทั้งวัน  คำพูดที่ว่านอนกลางดินกินกลางทรายนี่คือเรื่องจริง บางครั้งต้องทนแดดทนลมทนฝน พี่เคยอยากเป็นดารา พอเห็นในกองถ่าย พี่ไม่เอาแล้ว (หัวเราะ) แต่ยุคนี้สิ่งอำนวยมากขึ้น อยากกินอะไรก็โทรสั่งได้  ยุคนั้นต้องกินง่ายนอนง่ายอยู่ง่าย

การอำลาที่เจ็บปวด

พี่ทำลูกทุ่งเอฟเอ็ม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ถึงราวๆ ปี 2548 หลังจากนั้นทางสถานีเขาไม่ต่อสัญญา อย่างที่บอกว่าต้องลุ้นกันปีต่อปี  แล้วที่พี่เจ็บปวดที่สุดคือวันนั้นเป็นวันที่ 31 ธันวาคม แล้วเขาไม่บอกเราล่วงหน้าว่ายุบคลื่น พี่และลูกน้องทุกคนเตรียมฉลองเคาท์ดาวน์กัน เตรียมจะเปิดเพลง แต่ก่อนหน้านั้นราวๆ ครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง ผู้ใหญ่โทรมาหาพี่ บอกว่า “แอ้ รู้ไหม เขาจะตัดคลื่นเรา” พี่วิทยาก็ไม่รู้เพราะไปฉลองปีใหม่ที่โบนันซ่า แล้ววันรุ่งขึ้นเป็นวันเกิดพี่ด้วย พี่เกิด 1 มกราคม วันปีใหม่ นี่ของขวัญฉันหรือนี่ แล้วพี่จะทำอย่างไร จะบอกลูกน้องเหรอ อารมณ์นั้นพี่คนเดียวเลย พี่วิทยาก็ตีรถมาไม่ทันแล้ว พอเที่ยงคืนปุ๊บ เดดแอร์เลย  ลูกน้องถามเกิดอะไรขึ้น เลยจำใจต้องบอกพี่บอกพี่ก็เพิ่งรู้ ความรู้สึกคือจุก 

ALL Interview UPDATE