๙ มิถุนายน "วันอานันทมหิดล"

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (20 กันยายน พ.ศ. 2468 – 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489)

เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมสังวาลย์ (ภายหลังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีอีก 2 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (ภายหลังทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช)

พระองค์ทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี และเข้าทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิริ แต่หลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 นั้น สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรสและพระธิดาไปประทับที่เมืองซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยพระองค์ได้เข้าทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมีเรมองต์ ต่อมาย้ายไปทรงศึกษาที่โรงเรียน "เอกอลนูแวลเดอลาซืออิสโรมองต์" และทรงศึกษาภาษาไทย ณ ที่ประทับ โดยมีพระอาจารย์ตามเสด็จไปจากกรุงเทพ

พระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะที่มีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา และทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ

รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนคร ภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481  เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่เนื่องจากพระพลานามัยของพระองค์ไม่สมบูรณ์แข็งแรงจึงได้เลื่อนกำหนดออกไปก่อน

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง พระองค์จึงเสด็จนิวัตพระนครอีกครั้ง พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช แต่สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา มิได้ตามเสด็จด้วย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งการเสด็จนิวัตประเทศในครั้งนี้ ทางราชการได้จัดพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ และเนื่องจากพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้โดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงตั้งพระทัยจะทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซาน  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์จนเรียบร้อยแล้วจึงจะเสด็จนิวัตพระนครเป็นการถาวรและจะทรงรับการบรมราชาภิเษกในภายหลัง แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อนด้วยพระแสงปืนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ณ ห้องพระบรรทมพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน ในชั้นต้นทางราชการได้มีการแถลงข่าวสาเหตุการสวรรคตว่าเป็นอุบัติเหตุจากพระแสงปืนลั่น แต่การสอบสวนในภายหลังกลับพบสาเหตุว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี

 แม้จะเป็นระยะเวลาที่ไม่นานนัก แต่ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการปกครอง การศาสนา และการศึกษา ตลอดจนการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร ณ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ พระองค์ได้มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของประเทศไทย จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ย้อนรอย 9 มิถุนายน 2489 (วันเกิดเหตุ) 
พระที่นั่งบรมพิมาน

พระที่นั่งบรมพิมาน พระบรมมหาราชวัง (สถานที่เกิดเหตุ)
(ประมวลจากหนังสือ กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489หน้า 7-20 และ คดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ร.8 หน้า 17-19)

เวลาประมาณ 5.00 น. สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงปลุกบรรทมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อถวายพระโอสถให้เสวย จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมต่อ

เวลาประมาณ 6.00 น. ทรงพระประชวรพระนาภี สมเด็จพระราชชนีเสด็จไปถวายน้ำมันละหุ่ง นม และบรั่นดีแต่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลแล้วเสด็จกลับ

เวลาประมาณ 6.20 น. นายบุศย์ ปัทมศริน มหาดเล็กห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเข้าเวรถวายงานที่พระที่นั่งบรมพิมาน ซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้รินน้ำส้มคั้นที่ห้องเสวยเพื่อคอยทูลเกล้าฯ ถวาย

เวลาประมาณ 7.00 น. - 8.00 น. มหาดเล็กรับใช้ขึ้นไปบนพระที่เตรียมจัดตั้งโต๊ะเสวย

เวลาประมาณ 8 นาฬิกาเศษ นายบุศย์เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตื่นพระบรรทมจึงนำน้ำส้มคั้นไปถวาย แต่พระองค์โบกพระหัตถ์ไม่เสวย แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นบรรทมตามเดิม นายบุศย์จึงกลับมาประจำหน้าที่ ที่หน้าห้องพระบรรทมตามเดิม

เวลาประมาณ 8.30 พระบาทสมเด็จพระปรเมทรมหาอานันมหิดลทรงตื่นบรรทมเข้าห้องสรง ยื่นประทับในห้องแต่งพระองค์ นายบุศย์ถวายน้ำส้มพระองค์ไม่ทรงรับเสด็จเข้าห้องพระบรรทมนายบุศย์ถือน้ำส้มเดินตามเสด็จ พระองค์เสด็จขึ้นพระแท่นบรรทม โบกพระหัตถ์ให้นายบุศย์ออกไป นายบุศย์ถือน้ำส้มออกไป มานั่งอยู่ที่ระเบียงหน้าพระทวารเข้าห้องแต่งพระองค์

เวลา 8.55 นายชิต สิงหเสนี ขึ้นไปบนพระที่นั่ง(บางหนังสือเล่าว่านายชิดมากับพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร) เพื่อวัดขนาดดวงพระตราเพื่อเอาไปให้ช่างทำหีบดวงพระตรา นายชิตกับนายบุศย์นั่งคอยอยู่หน้าห้องแต่งพระองค์

เวลา 9.00 น. พระพี่เลื้ยงเนื่อง (นางสาวเนื่อง จิตตดุลย์) ขึ้นไปบนพระที่นั่ง เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนีจัดห้องแล้วเก็บฟิล์มหนังในห้องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เวลาประมาณ 9 นาฬิกาเศษ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเสวยพระกระยาหารเช้าพระองค์เดียว ณ มุขพระที่นั่งด้านหน้ามีมหาดเล็กรับใช้ 2 -3 คนเสด็จออกจากโต๊ะเสวยไปทางห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพบนายชิด สิงหเสนี บุศย์ ปัทมศริน ที่หน้าห้องแต่งพระองค์ทรงถวายพระอาการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล แล้วเสด็จกลับห้องของพระองค์

เวลาประมาณ 9.20 นเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด ภายในห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นายชิตสะดุ้งอยู่มองหน้านายบุศย์และคิดหาที่มาของเสียงปืนอยู่ประมาณ 2 นาที จึงเข้าไปในห้องพระบรรทม พบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมหลับอยู่เป็นปกติ แต่ปรากฏว่ามีพระโลหิต (เลือด) ไหลเปื้อนพระศอ (คอ) และพระอังสะ (ไหล่) ด้านซ้าย 

นายชิตจึงวิ่งไปที่ห้องบรรทมของสมเด็จพระบรมราชชนนีแล้วกราบทูลว่า “ในหลวงถูกยิง” สมเด็จพระบรมราชชนนีตกพระทัย ทรงร้องขึ้นได้เพียงคำเดียวและรีบวิ่งไปที่ห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทันที นายชิต, พระพี่เลี้ยงเนื่อง, สมเด็จพระอนุชาธิราช, และนางสาวจรูญได้วิ่งตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนีไปติด ๆ


ขณะนั้นมีคนอยู่บริเวณพระที่นั่งชั้นบน 8 ท่านด้วยกันคือ
1. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (บรรทมอยู่ในห้องของพระองค์)
2. นายชิด สิงหเสนี (นั่งอยู่หน้าประตูห้องแต่งพระองค์)
3. นายบุศย์ ปัทมศริน (นั่งอยู่หน้าประตูห้องแต่งพระองค์)
4. นายฉลาด เทียมงามสัจ (อยู่ห้องเสวยมุขพระที่นั่ง)
5. นางสาวจรูญ ตะละภัฎ (อยู่ในห้องสมเด็จพระบรมราชชนนี)
6. พระพี่เลี้ยงเนื่อง (อยู่ในห้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช)
7. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (อยู่ในห้องเครื่องเล่น)
8. สมเด็จพระบรมราชชนนี (อยู่ในห้องของพระองค์)

ขณะที่เสียงปืนดังขึ้น นายชิด สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน นั่งอยู่ที่พื้นระเบียงหน้าพระทวารห้องแต่งพระองค์เป็นทางเดียวจะเข้าสู่ห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันมหิดล (อ้างอิงจากหนังสือคดีประวัติศาสตร์ลอบปลงพระชนม์ ร.8 ของบุญร่วม เทียมจันทร์ หน้า 20)

เมื่อไปถึงที่ห้องพระบรรทมนั้น ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตเสียแล้ว ในลักษณะของคนที่นอนหลับธรรมดา มีผ้าคลุมพระองค์ตั้งแต่ข้อพระบาทมาจนถึงพระอุระ ที่พระบรมศพมีบาดแผลกลางพระนลาฎ (หน้าผาก) บริเวณระหว่างพระขนง (คิ้ว) 

ข้างพระศพบริเวณข้อพระกรซ้ายมีปืนพก US Army ผลิตโดยบริษัท Colt ขนาดกระสุน 11 มม.ซึ่งได้รับมาจากหน่วย OSS (CIA) วางอยู่ในลักษณะชิดข้อศอก ด้ามปืนหันออกจากตัว ปากกระบอกปืนชี้ไปที่ปลายพระแท่นบรรทม สมเด็จพระบรมราชชนนีได้โถมพระองค์เข้ากอดพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จนสมเด็จพระอนุชาธิราชต้องพยุงสมเด็จพระบรมราชชนนีไปประทับที่พระเก้าอี้ปลายแท่นพระบรรทม
gun
bed
พระแท่นบรรทม (ถ่ายจากเบื้องพระบาท) (ภาพจากหนังสือ : คดีประวัติศาสตร์ ลอบปลงพระชนม์ ร.8 โดย บุญร่วม เทียมจันทร์)

จำลองภาพเหตุการณ์
(ภาพถ่ายทำพระบรมศพที่จัดขึ้นในศาลตามคำให้การพระพี่เลี้ยงเนื่อง)


จากนั้นสมเด็จพระบรมราชชนนีจึงมีรับสั่งให้ตาม พ.ต.นายแพทย์หลวงนิตย์เวชชวิศิษฏ์ แพทย์ประจำพระองค์มาตรวจพระอาการของในหลวง ส่วนพระพี่เลี้ยงเนื่องได้จับพระชีพจรของในหลวงที่ข้อพระหัตถ์ซ้าย พบว่าพระชีพจรเต้นอยู่เล็กน้อยแล้วหยุด พระวรกายยังอุ่นอยู่ จึงเอาผ้าคลุมพระองค์มาซับบริเวณปากแผล และปืนกระบอกที่คาดว่าเป็นเหตุทำให้ในหลวงสวรรคตไปให้นายบุศย์เก็บพระแสงปืนไว้ที่ลิ้นชักพระภูษา เหตุการณ์ช่วงเองนี้ได้ก่อปัญหาในการพิสูจน์หลักฐานในเวลาต่อมาเมื่อมีการจัดตั้ง “ศาลกลางเมือง” เพื่อสอบสวนเกี่ยวกับกรณีสวรรคต

เวลาประมาณ 10.00 น. หลวงนิตย์เวชชวิศิษฏ์ได้มาถึงสถานที่เกิดเหตุและตรวจพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตแล้ว โดยบริเวณปากแผลมีผ้าพันแผลพันอยู่ เมื่อแกะผ้าพันแผลออกไม่พบรอยเขม่าดินปืน นอกจากนี้พระบรมศพยังได้ถูกชำระในขั้นต้นไปแล้ว โดยสมเด็จพระบรมราชชนนีได้ให้เหตุผลว่า จะได้ไม่เป็นการลำบากในการเตรียมงานถวายน้ำสรงพระบรมศพในช่วงบ่าย

ในช่วงเวลาเดียวกัน พระยาเทวาธิราช (ม.ร.ว.เทวาธิราช ป. มาลากุล) สมุหพระราชพิธีได้เดินทางไปที่ทำเนียบท่าช้าง ที่พักของนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งข่าวการสวรรคต (ขณะนั้นนายปรีดีประชุมอยู่กับหลวงเชวงศักดิ์สงคราม (รมว.มหาดไทย) พล.ต.อ.พระรามอินทรา (อธิบดีกรมตำรวจ) และหลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท (ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล) ในเรื่องกรรมกรที่มักกะสันหยุดงานประท้วง)

ประมาณ 11.00 น. นายปรีดีมาถึงพระที่นั่งบรมพิมาน และสั่งให้พระยาชาติเดชอุดมอัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และเชิญคณะรัฐมนตรี มาประชุมเกี่ยวกับเรื่องการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ประชุมสรุปว่าให้ออกแถลงการณ์แจ้งให้ประชาชนทราบว่า การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นอุบัติเหตุ แถลงการณ์ของกรมตำรวจที่ออกมาในวันนั้นก็มีเนื้อหาในลักษณะเดียวกัน

เวลา 21.00 น. รัฐบาลเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการด่วน เพื่อแจ้งให้สภาทราบเรื่องการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และสรรหาผู้สืบราชสมบัติ ที่ประชุมได้ลงมติถวายราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นสืบราชสมบัติ เป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ต่อไป จากนั้นนายปรีดีได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบในกรณีสวรรคต

10 มิถุนายน 2489 เจ้าหน้าที่และแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เดินทางมาทำการฉีดยารักษาสภาพพระบรมศพ ระหว่างการทำความสะอาดพระบรมศพเพื่อเตรียมการฉีดยานั้น คณะแพทย์และเจ้าหน้าที่ได้พบบาดแผลที่พระปฤษฎางค์ (ท้ายทอย) ซึ่งเป็นบาดแผลที่ทะลุจากรูกระสุนปืนที่พระพักตร์บริเวณพระนลาฏ (หน้าผาก) ตรงระหว่างพระขนง (คิ้ว) ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ที่จริงแล้วในหลวงถูกลอบปลงพระชนม์ เนื่องจากบาดแผลที่พบใหม่ไม่ตรงกับคำแถลงการณ์ที่ออกมาในตอนแรก ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยว่ารัฐบาลมีส่วนในการปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมตำรวจจึงออกแถลงการณ์เพิ่มเติมว่าได้ตั้งประเด็นการสวรรคตไว้ 3 ประเด็น คือ มีผู้ลอบปลงพระชนม์ ทรงพระราชอัตวินิบาตกรรม (ปลงพระชนม์เอง) หรือเป็นอุบัติเหตุ

 

 

 

ข้อมูล : Wikipedia / photoontour.com

ภาพ : photoontour.com / winnews.tv / variety.teenee.com / tnews.co.th / meawza / yrk.co.th / kapook today

ALL Lifestyle UPDATE