เกริ่นนำมาขนาดนี้หลายคนคงมองเห็นภาพความเป็นองค์กรสีเขียว ที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และ เอกชน กำลังขับเคลื่อนเรื่องของ ESG คือ Environment (สิ่งแวดล้อม) , Social (สังคม) , Governance (ธรรมาภิบาล) กันอย่างเข้มข้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มี บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL รวมอยู่ด้วยและจัดเป็นอันดับต้นๆ จนได้รับคัดเลือกจากสถาบันไทยพัฒน์ ให้เป็น 1 ในบริษัทกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG จากการประเมินหลักทรัพย์จดทะเบียนในปี 2565 / ได้รับการรับรองโครงการ ESG Credit 2565 สำหรับโครงการการลงทุนสีเขียวโดยสถาบันไทยพัฒน์
นอกจากนั้น TPIPL ยังได้รับคัดเลือกให้อยู่ในหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) ประจำปี 2565 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และยังได้รับผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies : CGR) ประจำปี 2565 ในระดับดีมาก (Very Good) โดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
อาจเป็นเพราะ TPIPL ได้ตระหนักว่าในยุคปัจจุบัน การทำธุรกิจไม่ได้คำนึงถึงผลกำไรแต่อย่างเดียวเท่านั้น แนวคิดเกี่ยวกับ ESG กำลังเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสร้างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี
ซึ่งไม่นานมานี้ คุณธัญญ์ธิดา ศรีรักษา ผู้ช่วยรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์กับ SUCCESS CHANNEL ถึงนโยบายและการบริหารจัดการความยั่งยืน แบบหลายมิติของ TPIPL เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)
เริ่มต้นจากปูน
TPIPL เริ่มจากการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งตอนนี้เราน่าจะขึ้นเป็นอันดับสอง จากการขยายเตาเผาขบวนการผลิตออกเป็น 4 สายการผลิตและใช้พลังงานสะอาดอย่างครบวงจร จากปูนซีเมนต์ก็ขยายไปถึงวัสดุก่อสร้าง พวกหลังคา บอร์ด ฝ้า อิฐมวลเบา คือตอนนี้ TPIPL มีผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่ใช้ก่อสร้างบ้านได้ ยกเว้นเหล็ก เราไม่ได้ทำเรื่องเหล็ก ขณะเดียวกัน เรามีโรงปูนซีเมนต์อยู่แล้ว ในโรงปูนซีเมนต์ ทาง คุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ซึ่งเป็นซีอีโอ มีวิสัยทัศน์ว่าเราควรจะทำโรงไฟฟ้า และก็เป็นคนแรกที่ทำโรงไฟฟ้าจากขยะ
อีกสิ่งหนึ่งที่ทาง TPIPL ทำคือการรับกำจัดกากอุตสาหกรรมให้ถูกวิธี ลดปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรมและช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนกับสังคม
ผลิตภัณฑ์สีเขียว
ตอนนี้สินค้าเราแทบทุกตัว เราเป็นผลิตภัณฑ์สีเขียวหมด ปูนเม็ด ปูนซีเมนต์ ไพเบอร์ซีเมนต์ หรือแม้แต่หลังคาคอนกรีต และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกประมาณ 20 ตัว เป็นกรีนหมด เราจะใช้วัสดุทดแทน เชื้อเพลิงทดแทน และไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
นอกจากนั้นก็มี ปุ๋ยอินทรีย์ ที่เป็นบายโพรดักส์ (ผลพลอยได้) จากการทำธุรกิจขยะด้วย ซึ่งเรารับขยะจากตลาดไท ตลาดไอยรา ซึ่งจะมีเศษผักผลไม้ ก็เลยมาเข้ากระบวนการทำปุ๋ยของเรา ตอนนี้หลายคนคงทราบว่า ทีพีไอมีปุ๋ยออกมาในตลาด
แล้วอีกตัวหนึ่งก็มีสินค้าเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นความคิดของ “คุณประชัย” ที่อยากให้เราเป็นออร์แกนิก ก็จะไม่มีอะไรที่เป็นมลพิษ ไม่มีอะไรที่เป็น toxic ก็จะมีพวกสบู่ล้างมือ สบู่อาบน้ำ น้ำยาล้างจาน แอลกอฮอล์ อย่างนี้ แต่จะอยู่ในกลุ่ม ทีพีไอ รักสุขภาพ
แล้วก็มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ ทำให้สัตว์มีสุขภาพดี เป็นอาหารเสริมใช้ได้หมด ทั้งหมาแมว และสัตว์ในฟาร์ม ฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ เป็นอาหารเสริม เป็นพวกซินไบโอติกส์ โพรไบโอติกส์ ที่เป็นน้ำ เป็นผง เอาไปผสมจะทำให้เจริญอาหารขึ้น ระบบขับถ่ายดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น เหมือนคนค่ะ เราก็มีเสริม อย่างตัว โปรไวต้า ของเราขวดเล็กๆนั่นก็จะทำให้ระบบขับถ่ายของคนดีขึ้น กินแล้วสวยขึ้น
ESG กับ TPIPL
เราเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ คือ TPIPL (TPI Polene) และ TPIPP (TPI Power) ซึ่งในเรื่อง ESG สิ่งแวดล้อม สังคม แล้วก็ ธรรมาภิบาล เราทำอยู่ ซึ่งสถาบันไทยพัฒน์ก็ประเมินบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG และเราก็ติดอันดับ ESG 100 เรียกว่าพอดูปุ๊บ เขาให้เราเลย ตอนนี้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต้องทยอยทำ และทำจริงจังให้เห็นภาพ
เรื่องสิ่งแวดล้อม เรามุ่งพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมทั้งให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ใช้พลังงานสะอาด ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการใช้พลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยและของเสีย
ส่วนในด้านสังคม TPIPL สนับสนุนโครงการและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วัด สถานศึกษา โรงพยาบาล หน่วยงานราชการต่างๆ และได้ให้โอกาสในการจ้างงานเท่าเทียมกัน มีทั้งผู้สูงอายุ และคนพิการ ไม่ใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฏหมาย คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ให้ความหลากหลายและเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ
ขณะที่เรื่องธรรมาภิบาล เราปฏิบัติต่อพนักงาน ลูกค้า และ คู่ค้า หรือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างซื่อสัตย์ มีจรรยาบรรณ และโปร่งใส รวมถึงใช้นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน
รางวัลที่เคยได้
ที่เราเพิ่งได้รับคือรางวัล Eco Factory (โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ โรงงานอุตสาหกรรมที่ยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน) แล้วก็มี GI4 (ผลงานอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4) ที่ได้จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม รางวัลด้านความเป็นเลิศปี 2566 สาขาการบริหารความเป็นเลิศนวัตกรรมด้านการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตพันธุ์ การลงทุน ประสิทธิภาพ
จากขยะเป็นไฟฟ้า
เมื่อสิบปีที่แล้วยังไม่มีใครให้ความสำคัญกับการกำจัดขยะมูลฝอยแบบยั่งยืนโดยแปรรูปเป็นพลังงาน ทางทีพีไอเป็นผู้เริ่มทำก่อน จนตอนนี้เป็นผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าในประเทศไทย ที่มีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
การทำโรงไฟฟ้า เราเอาขยะจากชุมชนต่างๆ ซึ่งมีสองประเภทค่ะ ประเภทหนึ่งคือขยะจากเทศบาล อบต.ต่างๆ เอาเข้าไปที่โรงงานของเรา แล้วเราก็มีกระบวนการจัดการคัดแยก เพื่อจะเอาเชื้อเพลิงที่เป็นพลาสติกเข้าเตาเผา ไปทำความร้อนเป็นพลังงาน กับอีกประเภทคือคัดแยกจากบ่อฝังกลบ แล้วส่งมาที่เรา เป็นการลดจำนวนพื้นที่จำนวนบ่อลง หมายถึงจากพื้นที่ซึ่งเต็มตลอด เมื่อคัดแยกพลาสติกส่งมาที่เรา ซึ่งขยะทั้งสองประเภท เราได้เอามาแปรเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยหรือ RDF (Refuse-derived fuel)
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าขยะทุกอย่างจะผลิตเป็น RDF ได้ ขยะที่จะนำมาใช้ได้ต้องเป็นขยะ 2 กลุ่มเท่านั้น กลุ่มแรกคือขยะที่ย่อยสลายยากและให้ความร้อนสูง เช่น ถุงพลาสติก กล่องนม และ ขยะอีกประเภทคือขยะชีวมวล เช่น เศษกิ่งไม้ เมล็ดผลไม้
การที่เราเอาขยะจากชุมชนมาผลิตไฟฟ้า ชุมชนก็ได้ประโยชน์ในเรื่องการจัดการขยะ เพราะเขาจะหาที่ทิ้งไม่ได้ ซึ่งในพื้นที่ก็แทบไม่มีที่แล้ว เมื่อมีชุมชนเกิดขึ้นเยอะ ก็จะเริ่มมีปัญหาตามมาเรื่อง มลพิษ กลิ่น พอทาง TPIPL เข้ามาช่วยเรื่องรับขยะจากชุมชน ไม่ต้องไปอยู่ที่กองขยะไหนถือเป็นการช่วยจัดระเบียบให้กับสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นรัศมีโดยรอบโรงงานเราหรือว่าในเทศบาลต่างๆ ทั้งในสระบุรี อยุธยา จะมาที่เราแทบทั้งนั้น โรงปูนเราอยู่สระบุรี ตรงมวกเหล็ก
ขณะเดียวกัน ทางเราก็ได้ประโยชน์ด้วยการนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตเองมาใช้ในโรงงาน และก็ยังได้ประโยชน์จากการนำไปขายคืนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต รวมทั้งทำให้เราลดการใช้ถ่านหิน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากตัวถ่านหินมันมีมลพิษ ถ้าเราลดลงเท่าไหร่ ก็ถือว่าเราได้เครดิตจากตรงนี้
กำจัดกากอุตสาหกรรม
การจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมไม่น้อยทีเดียว ซึ่ง TPIPL เป็นโรงงานประเภท 101 ซึ่งหมายถึงโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม (Central Waste Treatment) กรมโรงงานอุตสาหกรรมอนุญาตให้เรารับของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ไม่ใช่ว่าเรารับกำจัดกากอุตสาหกรรมไปเสียทุกอย่าง
ตามใบอนุญาตที่กรมโรงงานเขากำหนดไว้ โรงปูนจะมีข้อจำกัดเราจะรับได้เฉพาะตัวที่เผาไหม้ได้เท่านั้น พวกโลหะ แก้ว เศษของที่เผาไหม้ไม่ได้ ถ้าส่งมาเราก็ไม่สามารถรับกำจัดได้ พูดง่ายๆ คือของเสียอันตราย พวกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องมีใบอนุญาตเฉพาะบางโรงเท่านั้นที่เขารับกำจัดได้ เพราะค่อนข้างอันตราย
สำหรับเม็ดพลาสติกของเราเป็นพลาสติกธรรมดาที่ไม่ใช่พีวีซี เป็นกากอุตสาหกรรมที่ไม่อันตรายสามารถนำไปบดย่อยผลิตเป็นเชื้อเพลิงได้ หรือที่เรียกว่าเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม หรือ Solid Refused Fuel (SRF) ที่สามารถใช้ทดแทนเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม เช่น ถ่านหิน และ ฟอสซิล ได้
วาระพัฒนาความยั่งยืน
แต่ก่อนถ้าพูดถึงการทำธุรกิจอย่างมากคนก็สนใจเรื่องของ CSR หรือ Corporate Social Responsibility ซึ่งก็คือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร พูดง่ายๆคือพอธุรกิจเติบโตก็ต้องแบ่งให้คนอื่น แต่ทุกวันนี้ ESG มาอันดับหนึ่งเลย องค์กรต้องพิจารณาว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมทำอย่างไรให้ยั่งยืน เรื่องสังคม ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ต้องเอื้อให้ทำงานกันได้ ส่วน ธรรมาภิบาล ไม่เอาเปรียบกัน เราก็ต้องช่วยคนอื่นเขาด้วย ต่อจากนี้คงไม่มีธุรกิจเก่าๆ แบบเถ้าแก่ที่ไม่สนใจอะไร
ตอนนี้ยุโรปจับมือกับประเทศต่างๆรวมทั้งสิ้น 193 ประเทศ รวมทั้งไทย ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาความยั่งยืน 2030 หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งจุดประสงค์คือเน้นให้แต่ละประเทศสร้างแผนพัฒนาให้โลกดีขึ้นภายในปี 2030 ให้ครอบคลุมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และ สิ่งแวดล้อม ให้ไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน
ประเทศไทยตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30-40 จากการดำเนินการตามปกติ นั่นแปลว่าถ้าองค์กรไหนไม่มีแนวคิด ESG หรือมีคะแนน ESG ต่ำก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ หรือเสียโอกาสในการส่งสินค้าไปยุโรปและประเทศที่ลงนาม และเรื่องของคาร์บอนเครดิต ที่ตอนนี้เป็นภาคสมัครใจ ในอนาคตจะต้องเป็นภาคบังคับแน่นอน
ใน 6 เดือนแรกของปี 2566 นี้ TPIPL ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปราวๆ 6 ล้านตัน ซึ่งจำนวนนี้เรากำลังจะไปขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ตรงนี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการขาย “Carbon Credit” แต่เราต้องเอาตัวเลขไปขึ้นทะเบียนก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้เราเคยขายแล้วกับมูลนิธิจากเยอรมนี โดย TGO เป็นตัวกลางให้เขามาซื้อเรา เราก็ได้รายได้จากการขาย “Carbon Credit”
ถ้าองค์กรของเราสามารถขาย “Carbon Credit” ได้หากมีหน่วยงานไหนเขาอยากจะเป็น ESG เขาก็จะมาซื้อ“Carbon Credit” จากเรา แต่ตอนนี้ราคาซื้อขายยังไม่คงที่ถ้าเมื่อไหร่ราคาคงที่หรือมีการกำหนดตัวเลขชัดเจน TPIPL สามารถขายได้อย่างแน่นอน เพราะเราเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เราจึงสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ทีละจำนวนมาก แล้วธุรกิจเราทำเรื่องเชื้อเพลิงจากขยะก็จะยิ่งช่วยได้ในเรื่องนี้ได้มากทีเดียว
ต้นทุนการจัดการที่สูงขึ้น
มาตรการเรื่องการพัฒนาความยั่งยืนเหล่านี้ก็เป็นตัวช่วยเร่งที่ทำให้เราและบริษัทต่างๆ ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะขึ้น แต่ก็มีต้นทุน มีมูลค่าการจัดการค่อนข้างสูง หากองค์กรใดจะทำตามเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ร้อยเปอร์เซ็นต์ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนในการไปจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ซึ่งไม่แปลกเลยที่ Product จากประเทศที่ทำเรื่องนี้จึงมีราคาสูง
โรงงานอุตสาหกรรมในบ้านเราที่เขาส่งของเสียมากำจัดที่เราอย่างถูกต้องเขาก็มีต้นทุนเพิ่ม เทศบาลไม่สามารถรับดำเนินการได้ เพราะเป็นของเสียที่มาจากอุตสาหกรรม จึงเป็นต้นทุนทั้งนั้น รถที่ขนส่งก็ไม่ใช่รถอะไรก็ได้ ต้องเป็นรถเฉพาะที่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องมี วอ.8 (ใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายเพื่อการขนส่ง) และค่าขนส่งมีราคาแพงกว่ารถปกติ
โครงการอื่นๆเพื่อสิ่งแวดล้อม
TPIPL ทำหลายโครงการ อย่างโครงการปลูกป่า เราปลูกแทบจะทุกปีและก็จะทำต่อไป ตอนนี้เราปลูกไปได้ราวๆ สามพันต้น ประมาณ 100 ไร่ และ ทาง TPIPL มีมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิต ทำเพื่อสังคมทุกปี ตั้งมาก่อนที่จะมีเรื่อง ESG วัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ คือช่วยเหลือสังคมและทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่โรงงานของเรา คือ มวกเหล็ก แก่งคอย ซึ่งย่านนั้นมีโรงเรียน วัด เราก็ช่วยเหลือหมด เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมของโรงงาน
เงินที่นำไปช่วยเหลือนี้ ส่วนมากจากงบประมาณของ TPIPL แต่ก็เคยมีกิจกรรมระดมทุนเปิดรับบริจาค อย่างเราเคยจัดแรลลี่ แต่ไม่ได้จัดมา 3-4 ปีแล้วเพราะมีโควิด การทำกิจกรรมเพื่อหารายได้ก็มีแต่ส่วนใหญ่ก็จะมาจากบริษัทใหญ่ของเรา อาจจะมีซัพพลายเออร์ ลูกค้า มาร่วมบ้าง
จริงๆเราไม่ได้กำหนดว่าเรื่องอะไร ตรงไหนเป็นประโยชน์ ทำได้เราทำหมด อย่างเราเป็นโรงปูนเราสร้างโรงเรียนหลายแห่ง บริจาคปูน น้ำดื่ม และสิ่งของอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ อะไรที่เป็นสินค้าที่อยู่ในธุรกิจเรา เราก็บริจาคให้
ช่วงโควิดแรงๆ ขยะติดเชื้อมีจำนวนมาก ตอนที่โรงพยาบาลไม่เพียงพอสำหรับการรับคนไข้ ก็จะมีศูนย์พักคอยต่างๆ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจัดการเรื่องขยะติดเชื้อได้ เขาก็มาขอความร่วมมือให้เราช่วยรับขยะติดเชื้อ ซึ่งเราก็ให้เขาขนมาด้วยรถตู้ปิด คนขับก็ต้องใส่ชุด PPE ต้องมิดชิด และไปตามเส้นทางที่เรากำหนดเท่านั้น TPIPL รับไว้เยอะทีเดียว ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีคนติดต่อเข้ามา แต่ตอนนี้ติดเรื่องกรมอนามัยกับกรมโรงงานยังไม่อนุญาตให้เรารับแบบจริงจัง คือช่วงนั้นเราทำอยู่ปีกว่าๆ แต่ช่วงนี้ถือว่าเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ไม่ต้องช่วยเตาเผาเดิมที่เขาเผาอยู่
คุณธัญญ์ธิดา กล่าวในช่วงท้ายว่า “หากทำอะไรแบบเป็นพันธมิตร สอดคล้องกันเพื่อประโยชน์ต่อสังคม ทาง TPIPL ก็ยินดี อย่างเราทำ “โครงการ วาโก้ บราเดย์ บราเก่าเราขอ” ร่วมกับวาโก้ และ ไปรษณีย์ไทย เท่ากับเราเป็นปลายทางของโครงการนี้ คือ วาโก้รับบริจาคชุดชั้นในเก่า โดยให้ไปรษณีย์ไทย เป็นคนกลางจัดส่งให้ ใครจะไปบริจาคที่ไปรษณีย์ก็มีกล่องมีห่อให้ เขาก็ไม่คิดค่าใช้จ่าย ก็เหมือนช่วยกัน ไปรณีย์ไทยก็ได้ ESG ด้วย TPIPL ไปร่วมรับมาเผา เอามาทำให้เป็น zero wasteไม่ต้องไปสะสมในบ่อขยะ อะไรซึ่งไม่ย่อยสลาย เอามาที่เราให้หมด โครงการนี้ทำมาสองปีแล้ว” คุณธัญญ์ธิดา กล่าว